การใช้ผักตบชวาเลี้ยงสัตว์

ผักตบชวา


                  ผักตบชวา (WaterHyacinth) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Eichhornia crassipes (Mart.) Solm อยู่ในวงศ์ (Family) Pontederiaceae เป็นพืชน้ำลักษณะใบเป็นประเภทใบเดี่ยว แผ่นใบกว้างมนโค้ง ก้านใบยาวอวบน้ำ ดอกมีลักษณะเป็น ช่อกลีบดอกสีม่วง เจริญเติบโตได้ง่ายทั้งในที่น้ำตื้น น้ำขัง หรือ น้ำมีการไหลถ่ายเทได้ เช่น แม่น้ำลำคลองบึงต่างๆ ผักตบชวา เป็นพืชที่สามารถขยาย หรือ แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก โดยใช้ Stolon การกำจัด หรือ ปราบจึงทำได้ยาก ทำให้เป็นสาเหตุให้น้ำ ไหลถ่ายเทได้ช้า ทั้งยังเป็นการกีดขวางการจราจรทางน้ำอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าว จึงได้มีผู้นำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ ในรูปแบบต่างๆกัน เช่น จากคุณสมบัติที่เป็นพืชที่มีเส้นใยเหนียวมาก เมื่อนำมาทำให้แห้งจึงได้มีการนำมาทำเป็นเครื่อง หัตถกรรมได้แก่ กระเป๋าหมวก ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีผู้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงปุ๋ยหมักเป็นต้น แต่ถึงแม้ว่าจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ ในด้านต่างๆแล้วก็ตาม ผักตบชวาก็ยังคงเป็นปัญหาด้านมลภาวะอยู่ดี ดังนั้น ประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งประสบปัญหานี้ จึงได้ทดลองนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบคุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ช่วงฤดูแล้ง ต่างเป็นปัญหาที่สำคัญ สำหรับการผลิตปศุสัตว์ทั้งยังเป็นการช่วยลดต้น ทุนค่าอาหารสัตว์ได้อีกด้วย


 ส่วนประกอบทางเคมีของผักตบชวา


                จากการที่กลุ่มงานวิเคราะห์อาหารสัตว์ กองอาหารสัตว์ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผักตบชวามาวิเคราะห์ หาคุณค่าทางอาหารพบว่า ต้นผักตบชวาสด (ใบรวมก้านใบ) มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่สูงถึง 90% มีโปรตีน 1% เถ้า 1.4% และเยื่อใย (NDF) 5.2% จะเห็นได้ว่าต้นผักตบชวาสดมีคุณค่าทางอาหารสัตว์ต่ำ แต่เมื่อนำไปตากแห้งพบว่าคุณภาพจะสูงขึ้น โดยที่ส่วนใบจะมีคุณ ค่าทางอาหารสูงคือ มีโปรตีน 16.8% NDF 50% แต่ก้านใบมีโปรตีนเพียง 6.5% และNDF 51.6%  การที่คุณค่าทางอาหารของใบ และก้านใบมีความแตกต่างกัน เช่นนี้ อาจจะเนื่องมาจากใบของพืช มีหน้าที่ในการสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร ดังนั้น จึงมีโภชนะต่าง ๆ สะสมอยู่มากกว่าส่วนอื่น


                ผักตบชวาแห้งทั้งส่วน ใบ  และ ก้าน มีแคลเซี่ยมประมาณ 2% ฟอสฟอรัส ประมาณ 0.5% และไลซีน 6.7 กรัมต่อโปรตีน 100 กรัม (Wanapatetat,1983) นอกจากธาตุอาหารต่างๆเหล่านี้แล้ว Lopezและคณะ(1981) ได้รายงานว่า ผักตบชวาสดมีแคโรทีน สูงถึง 584-667 ppm.จึงเห็นได้ว่าผักตบชวามีคุณค่าทางอาหารสัตว์จัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะมีโปรตีนไลซีน และแคโรทีนสูง อีกทั้งยังมีแคลเซียม และฟอสฟอรัส อยู่ในระดับเท่าที่มีอยู่ในพืชอาหารสัตว์ทั่วไปอีกด้วย แต่ผักตบชวามีสารพิษชนิดหนึ่งคือ กรดอ็อกซาลิค จากตัวอย่างที่กลุ่มงานวิเคราะห์อาหารสัตว์ ได้ตรวจสอบพบว่า ที่ส่วนใบ และส่วนก้าน มีกรดอ็อกซาลิคประมาณ 1% ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ระดับของกรดอ็อกซาลิคที่สัตว์จะแสดงอาการเป็นพิษ คือ แกะได้รับกรดอ็อกซาลิค-ลิค 685 กรัม และม้า ได้รับโซเดียมออกซาเลท 450 กรัม ดังนั้น เมื่อพิจารณาสัตว์แต่ละชนิด เช่น โคกระบือจะต้องกินผักตบชวาแห้ง 68.5 กิโลกรัม จึง จะเป็นอันตราย แต่โดยทั่วไปแล้ว โคกระบือจะกินอาหารหยาบวันละประมาณ 15 กิโลกรัม ซึ่ง ถ้าใช้ผักตบชวาแห้ง เลี้ยงสัตว์ก็จะ ได้รับกรดอ็อกซาลิค เพียง 150 กรัมเท่านั้น ซึ่ง ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์


 การใช้ผักตบชวาเลี้ยงสัตว์


                การนำผักตบชวามาใช้เลี้ยงสัตว์ สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ และสามารถเลี้ยงสัตว์ได้หลายชนิดดังนี้


                    1. ใช้ในรูปพืชสด เกษตรกรทั่วไป รู้จักนำผักตบชวาสดมาใช้เลี้ยงสัตว์กันเป็นเวลานานแล้ว โดยนำมาหั่นเป็นท่อนสั้นๆผสมรวมกันรำ ปลายข้าว หรือ ต้มกับรำปลายข้าว และเศษอาหารจากครัวเรือน ส่วนใหญ่จะนำมาเลี้ยงสุกร แต่การใช้ผักตบขวาสดมี ข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้มากกว่า 25% ของอาหารทั้งหมด เพราะการใช้ผักตบชวาสดในระดับที่สูงเช่นนั้นจะมีผลทำ ให้สัตว์กินอาหารได้ลดลง และอาจจะเป็นโรคขาดสารอาหารได้ ทั้งนี้เนื่องจาก ผักตบชวาสดมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่สูง นั่นเอง ( Close and Menke, 1986 )


                    2. ใช้ในรูปผักตบชวาแห้ง เนื่องจากการใช้ผักตบชวาสดมีข้อจำกัดคือ ผักตบชวาสดมีน้ำประกอบอยู่สูง ดังนั้น จึงได้มีการนำมาทำให้แห้งก่อน ที่จะนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งกรรมวิธีการใช้ และชนิดของสัตว์ที่นำไปเลี้ยงก็มีแตกต่างกันไป ดังนี้


                        2.1 ไก่กระทง เมื่อใช้ใบผักตบชวาแห้งผสมในอาหารผสมในปริมาณ 5% สำหรับเลี้ยงไก่กระทงในช่วงอายุ 0-8 สัปดาห์ ไก่จะมีอัตรา การเจริญเติบโต ปริมาณการกินอาหาร อัตราการแลกเนื้อ และคุณภาพซากที่ดี พอๆกับการเลี้ยงโดยใช้อาหารผสม ที่มีใบกระถิน 5% หรือใบถั่วฮามาต้าแห้ง 5% ( Rotchanasathit et. al, 1988)


                        2.2 ห่าน สามารถใช้ผักตบชวาแห้งผสมในอาหารทดแทนรำได้ในระดับ 10,20 และ30% เพื่อเลี้ยงห่านในช่วงอายุ 3-14 สัปดาห์ กล่าวคือ ใช้ผักตบชวาแห้ง 10 กก.และกากถั่วเหลือง 2 กก. ทดแทนรำละเอียดทุก 10 กก. และปลายข้าว 2 กก. ซึ่ง ไม่ว่าจะเลี้ยงด้วยสูตรใด น้ำหนักตัว และอัตราการเจริญเติบโตของห่านก็ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ห่านที่เลี้ยงด้วยผัก ตบชวาในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะใช้อาหารข้น (ไม่รวมผักตบชวา) ต่ำกว่าพวกที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมด้วยผักตบชวา ในระดับต่ำกว่า ( โอสถและคณะ, 2528 )


                        2.3 กระต่าย เมื่อใช้ใบผักตบชวาแห้งผสมในอาหารสำเร็จรูป ในระดับ 25% ของอาหารทั้งหมด แล้วนำไปเลี้ยงกระต่ายเล็ก (อายุ 56-84 วัน) และกระต่ายรุ่น (อายุ 84-112 วัน) พบว่า กระต่ายมีอัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการใช้อาหาร ไม่แตกต่างจากกระต่ายที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป ที่มีใบปอ หรือ ใบถั่วลิสงนา ประกอบอยู่ 25% ของอาหารทั้งหมด แต่จะดีกว่ากระต่ายที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป ที่มีหญ้าขน ประกอบอยู่ 25% ของอาหารทั้งหมด (เยาวมาลย์และคณะ,2528)


                        2.4 สุกร ในการเลี้ยงสุกรรุ่น และสุกรขุน สามารถใช้โปรตีนที่สกัดจากผักตบชวา (Water Hyacinth Protein Extraction) ทดแทนโปรตีนจากกากถั่วเหลืองได้ 25% ในอาหารสัตว์ แต่ถ้าใช้ทดแทนในอัตรา 50 และ75% จะทำให้การย่อยได้ ของโภชนะ อัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารลดลง (Alcantara andLobos,1980) สำหรับสุกรขุน เมื่อใช้ต้นผักตบชวาแห้งผสมในอาหารสัตว์ 10% จะสามารถลดค่าอาหารลงได้ ในการใช้ผักตบชวา เลี้ยงสุกรขุนไม่ว่าจะใช้ในรูปสด หรือแห้งก็ตาม ควรจะใช้เลี้ยงสุกรที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 25 กก. ขึ้นไปเพราะสุกรเหล่านี้ เติบโตพอที่จะไม่ต้องใช้อาหารที่มีคุณภาพสูง เท่ากับเมื่อยังเล็กอยู่ ( เสาวคนธ์ , 2532 )


                        2.5 โคนม เมื่อเลี้ยงลูกโคนมเพศผู้ตอนอายุ 6 เดือน โดยใช้ฟางข้าวเป็นอาหารหยาบหลัก (Basal roughage) และให้อาหารเสริม (Supplemental feed) วันละ1.2 กก.โดยในอาหารเสริมมีใบผักตบชวาแห้งผสมอยู่ 0.4 กก. หลังจากเลี้ยงได้นาน 90 วัน พบว่า อัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารของลูกโค ไม่แตก ต่างจากลูกโคที่เลี้ยงด้วยฟางข้าว และอาหารเสริมที่มีกากถั่วเหลืองประกอบอยู่ด้วย (Wanapatet.al.,1989)


Reza( 1988 ) รายงานว่า เมื่อเลี้ยงโคนมโดยใช้ฟางข้าว และผักตบชวาในอัตราส่วน 1 :1 เป็นอาหารหยาบ หลังจากนั้น 90 วัน พบว่า ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น 197.5 มิลลิลิตร/ลิตร และไขมันในน้ำนมเท่ากับ 167.5 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งได้ผลดีพอๆกับการเลี้ยงโคนมด้วยฟางข้าว และGermanGrass ในอัตราส่วน 1:1โดยใช้อาหารข้นชนิดเดียวกัน


                        2.6 กระบือ เมื่อใชัฟางข้าวและผักตบชวาในอัตราส่วน 1:1 ปรุงแต่งด้วยน้ำที่มียูเรียละลายอยู่ 5% และน้ำที่มีเกลือละลายอยู่ 0.3% ในอัตราส่วน 1 : 1 หมักไว้นาน 3 สัปดาห์ แล้วนำไปเลี้ยงกระบือ เป็นเวลา 110 วัน กระบือจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 329 กรัม/วัน ซึ่งดีกว่าการเลี้ยงด้วยฟางข้าว หรือ ฟางข้าวปรุงแต่งด้วยยูเรีย เพราะ ผักตบชวาทำให้โปรตีนในอาหารหยาบเพิ่มสูงขึ้น (Wanapatetal,1992) นอกจากนี้ แอมโมเนียที่ได้จากการที่ยูเรีย ทำปฏิกิริยากับน้ำ จะทำให้เยื่อใยของฟางข้าว และผักตบชวาอ่อนนุ่ม สัตว์จึงใช้ประโยชน์ได้ ส่วนเกลือจะทำหน้าที่ระงับ การเติบโตของจุลินทรีย์ที่จะทำ ให้พืชหมักเสีย


                    3.ใช้ในรูปพืชหมัก การทำผักตบชวาหมักเป็นการหมัก โดยการเติมสารเสริมต่างๆ เพื่อให้ได้พืชหมักมีคุณภาพดี เหมาะแก่การนำไป ใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดต่างๆ การทำผักตบชวาหมักนั้น มีอยู่หลายสูตร เช่น หั่นผักตบชวาเป็นท่อนสั้นๆ แล้วตาก ให้เหี่ยวลงเล็กน้อยให้มีความชื้นประมาณ 70% เติมกากน้ำตาล 10% เพื่อให้มีน้ำตาลมากพอสำหรับ Lactic acid bacteria จะใช้สร้างกรด และเติมกรดฟอร์มิค (Formicacid) 0.3% เพื่อให้เกิดสภาวะความเป็นกรดเร็วขึ้น ทำให้ bacteria ชนิดอื่นๆไม่สามารถเจริญได้ คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน แล้วหมักไว้ โดยอย่าให้อากาศเข้าได้ จะได้อาหารหมักที่มีคุณภาพดี (พานิช, 2535)


                ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเกษตรกรสามารถนำผักตบชวามาใช้เลี้ยงสัตว์ได้หลายรูปแบบ ทั้งในลักษณะที่เป็นพืชสด พืชแห้ง หรือพืชหมัก สามารถใช้ได้ทั้งเป็นอาหารหยาบ หรือ ใช้ผสมในอาหารผสม และสามารถเลี้ยงสัตว์ได้หลายชนิดทำให้เกิด ประโยชน์ คือ


                    1 . เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของเกษตรกรในการหาหรือเลือกใช้อาหารสัตว์


                    2 . ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์


                    3.  ช่วยกำจัดวัชพืชทางน้ำ


สรุป


                ผักตบชวาเป็นวัชพืชน้ำ เมื่อทำให้แห้งแล้วจะมีคุณค่าทางอาหารสัตว์สูงคือ มีโปรตีน 10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่วน ใบมีโปรตีนสูงถึง 16% สามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดังนี้


                    1. เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องได้เป็นอย่างดี         


                    2.ไก่กระทง ใช้ต้นผักตบชวาแห้ง 5% ผสมในอาหารผสม


                    3. ห่าน ใช้ต้นผักตบชวาแห้ง 10 กก. และกากถั่วเหลือง 2 กก. ทดแทนรำละเอียด10 กก. และปลายข้าว 2 กก.


                    4. กระต่าย ใช้ใบผักตบชวาแห้ง 25% ผสมในอาหารสำเร็จรูป


                    5. สุกรใช้ต้นผักตบชวาแห้ง 10% ร่วมกับอาหารผสม


ตาราง ส่วนประกอบทางเคมี ของผักตบชวา






ที่มา : กลุ่มงานวิเคราะห์อาหารสัตว์


 


เอกสารประกอบการเรียบเรียง


นิจศิริ เรืองรังษี และ พยอม ตันติวัฒน์. 2534. พืชสมุนไพร. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ กรุงเทพฯ.243 น.


พานิชทินนิมิตร.2535.โภชนศาสตร์สัตว์ประยุกต์ (ฉบับปรับปรุงใหม่).คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ จังหวัดสงขลา. 251 น.


เยาวมาลย์ ค้าเจริญ ฉายแสง ไผ่แก้ว สาโรจน์ ค้าเจิรญ อภิชัย ศิวประภาพร พรรณศรี สากิยะ และ พิสมัย นามแดง. 2529. การศึกษาการผลิตกระต่ายเนื้อ (4) การศึกษาใช้ใบพืชและผลพลอยได้ต่างๆ ในการเลี้ยง กระต่าย.272-285 ใน รายงานประจำปี 2528 กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


โอสถ นาคสกุล วรพงษ์ สุริยจันทราทอง พิไล กวิศราศัย และ เสาวคนธ์ โรจนสถิตย์. 2529. การใช้ผักตบชวาแห้ง ระดับต่าง ๆ ในอาหารสำหรับเลี้ยงห่าน : น. 198-212 ใน รายงานประจำปี 2528. กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ.


Alcantara, P.F. and A.D. Lobos. 1981. Nutritional evaluation of water hyacinth (Eichhornia crassipes) as feed for swine. in Philippine Journal of Veterinary and Animal Sciences. 7 (1) : 35-36.


Close, W and K.H. Menke. 1986. Select Topics in Animal Nutrition. 2 nd ed. University of Hohenheim,Stuttgart. Federal Republic of Germany. 255 p.


Kijpakorn, S. and S. Kijpajup. 1988. Effect of protein supplements and roughage sources on growing rabbits. in King Mongkut’s Agricultural Journal. Warasan Kaset Pra Chomklao.6 (2) : 37 - 51.


Lopez, P.L., R.P.Mania and M.D.Beldia. 1981. The potential of leaf protein concentrate and supplement in broiler ration. in Philippine Journal of Veterinary and Animal Sciences.7(1):38.


Reza, A. 1988. Replacement of conventional forage by water hyacinth in the ration of milch cow. in Bangladesh Journal of Animal Science 1988. 17 (1-2) : 85 - 91.


Rotchanasathit, S., P. Phochan and S. Phochan. 1988. Replacing dried Leucaena leaf meal in broiler mash by dried water hyacinth or dried hamata leaf meal. in Kasetsart Extension Journal. Khao San Kaset. 33 (4) : 37 - 48.


Wanapat, M., C. Maskasem and N. Sornsoongnern. 1989. Utilitzation of dried water hyacinth leaf meal (Eichhornia crassipes Mart.) in a supplement for crossbred dairy steers. in Khon-Kaen Agriculture Journal. Kaen Kaset. 17 (1) : 50 - 56.


Wanapat,M., P. Sriwatanasombat and S. Chantai. 1992. The ultilization of diets containing untreated Rice Straw, Urea - Ammonia treated Rice Straw and Water Hyacinth. p.17 in Abstract Bibliography on Forage Crop Research in Thailand 1964 - 1991 Department of Livestock Development.


Wanapat, M., S. Wanapat and S. Chanchai. 1983. Variation in the chemical composition and in vitro digestibility of water hyacinth (Eichhornia crassipes Mart.)  :180-187 p. in Annual report 1983. The National Buffalo Research and Development Center Project. Bangkok.


กองอาหารสัตว์ E - mail address :nutrition1@dld.go.th

Visitors: 729,394